การจัดหาซอฟต์แวร์เพื่อมาใช้งาน

การจัดหาซอฟต์แวร์มาใช้งาน 
 
แบ่งได้ 5 แบบดังนี้
 1. แบบสำเร็จรูป ( Packaged หรือ Ready – made Software )
วิธีการนี้ผู้ใช้งานสามารถที่จะเข้าไปเดินหาซื้อได้กับตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทผู้ผลิตโดยตรงซึ่งมักจะมีการเตรียมบรรจุภัณฑ์และเอกสารคู่มือการใช้งานไว้อยู่แล้ว ผู้ใช้สามารถที่จะหยิบเลือกซื้อได้เมื่อพอใจในตัวสินค้าซอฟต์แวร์นั้น ๆ และนำไปติดตั้งเพื่อใช้งานได้โดยทันที กรณีที่ไม่สามารถเลือกซื้อผ่านร้านตัวแทนจำหน่ายได้อาจเข้าไปในเว็บไซต์ของบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์นั้น ๆ แล้วกรอกข้อมูลรายการชำระเงินผ่านแบบฟอร์มบนเว็บเมื่อรายละเอียดเกี่ยวกับการจ่ายชำระเงินของผู้ซื้อได้รับการอนุมัติก็ สามารถนำเอาซอฟต์แวร์ดังกล่าวมาใช้ได้ทันที 
 
2. แบบว่าจ้างทำ ( Customized หรือ Tailor – made Software )
กรณีที่บางองค์กรมีลักษณะงานที่เป็นแบบเฉพาะของตนเองและไม่สามารถนำโปรแกรมสำเร็จรูปมาประยุกต์ใช้ได้ก็สามารถที่จะผลิตขึ้นมาเองหรือว่าจ้างให้บุคคลภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญโดย เฉพาะทำการผลิตซอฟต์แวร์ออกมาให้ตรงตามคุณสมบัติที่ต้องการซึ่งวิธีการนี้อาจมีค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างให้เขียนซอฟต์แวร์ที่มีต้นทุน แพงกว่าแบบสำเร็จรูปอยู่พอสมควร

3. แบบทดลองใช้ ( Shareware )
ในการใช้งานโปรแกรมผู้ใช้งานอาจมีความต้องการเพียงแค่อยากทดสอบการใช้งานของโปรแกรมนั้น ๆ ก่อนว่าดีหรือไม่ และจะเหมาะสมกับงานที่ทำอยู่อย่างไรบ้าง บริษัทผู้ผลิตจึงมักจะมีโปรแกรมเพื่อให้ลูกค้าทดลองใช้งานก่อนได้ แต่อาจจะมีการกำหนดระยะเวลาทดลองใช้งานหรือเงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น ใช้ได้ภายใน 30 วัน หรือปรับลดคุณสมบัติบางอย่างลงไป วิธีการนี้ทำให้ผู้ใช้สามารถทดลองใช้ก่อนตัดสินใจซื้อได้ ซอฟต์แวร์ประเภทนี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะมีให้ดาวน์โหลดจากอินเทอร์เน็ตโดยทั่วไปซึ่งจะหาได้ตามเว็บไซต์ของผู้ผลิตโดยตรงหรือเว็บไซต์ที่ให้บริการดาวน์โหลดซอฟต์แวร์โดยเฉพาะ
 
4. แบบใช้งานฟรี ( Freeware )
ปัจจุบันเราสามารถเลือกหาโปรแกรมที่แจกให้ใช้กันฟรี ๆ เพื่อตอบสนองกับการทำงานที่หลากหลายมาได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแหล่งบริการดาวน์โหลดบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งมักจะเป็นโปรแกรมขนาดเล็กและใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ซึ่งผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้ผลิตแต่อย่างใด แต่เนื่องจากเป็นของที่ให้ใช้กันฟรี ๆ จึงอาจจะไม่มีคู่มือหรือเอกสารประกอบอย่างละเอียดเหมือนกับที่ต้องเสียเงิน ซื้อ เนื่องจากเป้าหมายของผู้ผลิตคือ ต้องการพัฒนาโปรแกรมเพื่อเผยแพร่ผลงานของตนเองให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และทดสอบระบบที่พัฒนาเพียงเท่านั้น อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะแจกให้ใช้ฟรี ซอฟต์แวร์ประเภทนี้ลิขสิทธิ์ก็ยังเป็นของบริษัทผู้ผลิตอยู่ ไม่สามารถนำไปพัฒนาต่อหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดให้ 
 
 5. แบบโอเพ่นซอร์ส ( Public – Domain/Open Source ) 
ในบางองค์กรที่มีกลุ่มบุคคลผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนา ซอฟต์แวร์พอสมควร หากต้องการใช้ซอฟต์แวร์แต่ไม่ต้องการเสียเวลาในการพัฒนาที่ยาวนานจนเกินไป อาจจะเลือกใช้กลุ่มของซอฟต์แวร์ที่มีการเปิดให้แก้ไขปรับปรุงตัวโปรแกรมต่างๆ ได้เอง อีกทั้งยังไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ใด ๆ ด้วย ซึ่งบางครั้งเรียกซอฟต์แวร์กลุ่มนี้ว่า โอเพ่นซอร์ส (open source ) ซึ่งผู้ใช้งานสามารถที่จะนำเอาโค้ดต่าง ๆ ไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ได้ตามความต้องการได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดหรือระบุ ไว้ของผู้ผลิตดั้งเดิม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น